เงินเฟ้อคืออะไร และเงินเฟ้อส่งผลกระทบอะไรบ้างในปี 2022

เงินเฟ้อคืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไร ในปี 2022

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไม สภาวะเงินเฟ้อ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบมากมายให้กับประชาชนคนใช้ชีวิตอย่างพวกเรา จะสังเกตได้จากสินค้าและบริการต่างๆในชีวิตประจำวันที่เริ่มมีการปรับราคาขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ต่างๆ น้ำมัน หรือแม้แต่ค่าทางด่วนที่คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนราคาจาก 50 บาท เป็น 75 บาทหรืออาจจะมากกว่านั้นในอนาคตอันใกล้ และอื่นๆอีกมากมายที่จะมีการปรับราคาขึ้นตามไปด้วย แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า “ค่าครองชีพของเราสูงขึ้นขนาดนี้ แต่ทำไมรายได้ยังคงเท่าเดิมไม่เพิ่มตามไปด้วย” ไม่ว่าจะทำงานตัวเป็นเกลียวเท่าไหร่ อดหลับอดนอนฝืนทนทำงานมากเพียงใด แต่รายได้ก็ยังคงเท่าเดิมไม่เพิ่มขึ้นตาม หรืออาจจะถูกลดลงให้น้อยกว่าเดิมก็เป็นได้ นั้นจึงเป็นปัญหา และทำให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินในชีวิตประจำวันของพวกเราอีกด้วย

ดังนั้นเพื่อเป็นการรับมือจากสภาวะเงินเฟ้อไม่ว่าจะ ณ ช่วงเวลานี้ หรือแม้แต่ในอนาคตที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้นอีกอย่างไม่มีวันจบสิ้น จึงต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะเงินเฟ้อนี้ เพื่อเป็นการจัดการวางแผนสภาพทางการเงินในชีวิตประจำวันให้มั่นคง 

 

เงินเฟ้อคืออะไร

เงินเฟ้อ (Inflation) คือ สภาวะที่ราคาสินค้าและบริการต่างๆในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มที่จะปรับราคาให้สูงขึ้น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ราคาแพงขึ้น ไม่ว่าคุณจะถือเงินสดไว้มากเท่าไหร่ ตราบใดที่คุณต้องเผชิญหน้ากับสภาวะเงินเฟ้อ เงินสดที่คุณถือไว้นั้นจะถูกด้อยค่าลงทันที หากเงินเฟ้อสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะสภาพทางการเงิน และความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน จนทำให้ประชาชนอย่างพวกเราต้องปาดเหงื่อปาดน้ำตากันถ้วนหน้า 

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพียงเรามีเงิน 100 บาท ก็สามารถซื้อสินค้าได้เป็นจำนวนมาก แต่ ณ ปี 2022 เงิน 100 บาทนั้นกลับสามารถซื้อสินค้าได้แค่เพียง 1 – 2 ชิ้นเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ราคาข้าวแกงตามร้านอาหารตามสั่งจากราคาจานละ 10 บาท พิเศษจานละ 15 – 20 บาท แต่ ณ ปี 2022 นี้ ถูกปรับราคาขึ้นมาอย่างน่าตกใจ จากราคาอย่างต่ำ 10 บาท ปัจจุบันถูกปรับขึ้นอย่างต่ำจานละ 35 – 40 บาท พิเศษจานละ 45 – 50 บาท และมีแนวโน้มว่าจะปรับราคาขึ้นอีกในอนาคต ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลในการใช้เงินมากขึ้นในการซื้อสินค้าในปริมาณเท่าเดิม โดยผลกระทบของเงินเฟ้อที่สามารถเห็นได้ชัดเป็นรูปธรรม ได้แก่

  • ค่าครองชีพสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น
  • ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้นจากสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้น
  • มูลค่าของเงินลดลง ซึ่งการที่ปล่อยเงินทิ้งไว้โดยไม่มีการนำไปลงทุนเมื่อเวลาผ่านไปเงินส่วนนั้นจะไม่สามารถนำมาซื้อสินค้าได้เท่าเดิม

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมดูแลในเรื่องสภาวะเงินเฟ้อ ได้แก่กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย

กระทรวงพาณิชย์ คือส่วนหนึ่งในการดูแลราคาสินค้า และบริการต่างๆ ที่ไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค หรือตรึงราคาไว้ในช่วงที่สินค้าขาดแคลนระยะสั้น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดตามรวบรวมข้อมูลราคาสินค้า และบริการที่ผู้บริโภคซื้อเป็นประจำทุกวันจากตลาด และแหล่งจำหน่ายต่างๆ ทั่วประเทศ นำมาคำนวณจัดทำเป็นดัชนีที่เรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบถึงภาวะเงินเฟ้อสามารถวัดได้จากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีดังกล่าว ซึ่งเรียกตัวชี้วัดนี้ว่า “อัตราเงินเฟ้อ”

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ (ธปท.) ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลในเรื่องของเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และไม่ผันผวน เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และความกินดีอยู่ดีของประชาชน 

เงินเฟ้อเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อนั้นมีอยู่ 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ ความต้องการสินค้าที่มากขึ้น (Demand-Pull Inflation) และต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation)

ความต้องการสินค้าที่มากขึ้น (Demand-Pull Inflation) คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สินค้าและบริการมีจำนวนที่จำกัด หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามกลไกลของ อุปสงค์ อุปทาน (Demand & Supply) ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคมีเงินใช้มากขึ้นเพราะเศรษฐกิจดีมาก และการที่มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation) คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากการที่ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นั้นจึงทำให้ผู้ขายต้องขึ้นราคาสินค้าตามไปด้วย

เงินเฟ้อและเงินฝืดต่างกันอย่างไร 

มาถึง ณ จุดนี้คงจะทราบกันดีว่าเงินเฟ้อคืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร แต่ตราบใดที่มีเงินเฟ้อแล้วก็ต้องตามมาด้วยคำว่า “เงินฝืด” ก่อนเข้าสู่หัวข้อนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเงินฝืดนั้นคืออะไร

เงิดฝืด (Deflation) คือ สภาวะที่มีความต้องการสินค้าและบริการต่างๆลดลง ซึ่งเกิดจากความไม่มั่นคงในสภาวะทางเศรษฐกิจ เมื่อความต้องการของผู้บริโภคลดน้อยลงเนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่เพียงพอ หรือเรียกง่ายๆว่า ไม่มีเงิน จึงทำให้ไม่อยากซื้อสินค้า ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าและบริการมีมากจนเกินไป ผู้ขายจึงจำเป็นต้องลดราคาสินค้าให้ถูกลงเพื่อระบายสินค้าและกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค และเมื่อสภาวะเงินฝืดมีมากขึ้นก็จะนำพาไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “เศรษฐกิจชะลอตัว”

สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินฝืด คือเกิดจากความต้องการในการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ในขณะที่สินค้าและบริการมีปริมาณเท่าเดิม ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเงินหมุนเวียนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจลดน้อยลงตามไปด้วย อีกทั้งการลดราคาสินค้าของผู้ผลิตก็จะนำไปสู่การจ้างงานที่ลดลง หรือการเลิกจ้างตามกำลังการผลิตที่ลดลง และอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อและเงินฝืดมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ภาวะเงินเฟ้อแม้จะอยู่ในระดับที่ดี แต่ก็แย่สำหรับทุกเศรษฐกิจ ส่วนภาวะเงินฝืดอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเลวร้ายที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ 

เงินเฟ้อและเงินฝืด เกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเกิดจากอุปสงค์ที่มากกว่า หรือน้อยกว่าอุปทาน ซึ่งจะส่งผลให้เงินหมุนเวียนในระบบมากหรือน้อยเกินไป จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด 

ความแตกต่างระหว่างเงินเฟ้อและเงินฝืด คือเป็นสภาวะทางเศรษฐกิจที่ตรงข้ามกัน คือภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นเมื่อระดับสินค้าและบริการต่างๆลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากอุปสงค์มีน้อยกว่าอุปทาน ความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคลดลง ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรฐกิจลดลงตามไปด้วย ส่งผลทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง ส่วนภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสีฟ้า หรือระดับที่น้อย ถือได้ว่าเป็นภาวะที่ช่วยกระตุ้นเรื่องเศรษฐกิจ เพราะราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากความต้องการซื้อมีมากขึ้น ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่ถ้าเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อระดับสีแดง หรือในระดับที่เรียกว่า Hyperinflation จะส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำลงขั้นร้ายแรง เนื่องจากราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นจนเกินกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้เกิดการขายสินค้าไม่ได้ คนงานเริ่มทยอยกันตกงาน ซึ่งเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงมากที่สุด

เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร 

มีค่าใช้จ่าย หรือภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆน้อยลง ซึ่งอาจทำให้รายได้ที่หามาไม่เพียงพอต่อการยังชีพ

อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูงขึ้นจะส่งให้อัตราของดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือเรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง มีค่าลดลงไปด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยที่ได้รับ เมื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าจะสามารถซื้อได้ในปริมาณที่น้อยลง ยกตัวอย่าง กรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปี แต่หากอัตราเงินเฟ้อ หรือราคาเพิ่มขึ้นมา 1% อาจกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆ จะอยู่ที่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น แต่หากปีต่อไปอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังเท่าเดิม แต่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอยู่ที่ 2% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลายเป็น 0.5% ต่อปี ซึ่งถือว่ากําลังซื้อของประชาชนจะลดลง การฝากเงินทําให้ได้รับผลตอบแทนจริงๆ ติดลบ

ทําให้ไม่อยากออมเงิน และอาจหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทองคํา อสังหาริมทรัพย์ และหุ้น เป็นต้น ซึ่งก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย หากไม่มีความรู้ที่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ ก็อาจทําให้เกิดเป็นภาระหนี้สินได้

เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร

สินค้าและบริการต่างขึ้นราคาทำให้ราคาแพงขึ้นจากปกติ ซึ่งส่งผลทำให้ยอดขายลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้เจ้าของธุรกิจบางรายตัดสินใจชะลอการผลิตลง โดยการลดการลงทุน และการจ้างงาน ซึ่งส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องตกงาน

ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกในประเทศจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าส่งออกของประเทศอื่นๆ

เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร

เงินเฟ้อถือเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้สินค้าขาดแคลนมากขึ้น และนำมาซึ่งราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่เป็นตัวแปรสำคัญ คือ ราคาพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงไตรมาส 4/64 จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป มีการเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 6.8% และ 5.0% ตามลำดับ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานด้วยเช่นเดียวกัน โดยในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของไทยมีค่าเฉลี่ยเติบโต 2.4% ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปี 2564 ที่ 1.2% เกือบเท่าตัว และเมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่าสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันโลก จนส่งผลให้ราคาค่าขนส่ง และการเดินทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4/64

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยปี 2565 จึงยังคงถูกกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเบาบางลง ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการพลังงานยังคงมีสูงตลอดทั้งปี ยิ่งไปกว่านั้นราคาไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มที่มีการตรึงราคามาตั้งแต่ปีที่แล้วก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 1.7% ซึ่งเป็นระดับที่อยู่ในกรอบเป้าหมายระยะยาว

อ่านบทความ : อยากหารายได้เสริม ช่วงโควิด-19 เริ่มต้นอย่างไรดี ในปี 2022

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นกลายเป็นประเด็นเศรษฐกิจที่ผู้คนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลากหลายหมวดหมู่ ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปถึงผู้บริโภคและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างไร

ในสภาวะที่ประชาชนซื้อสินค้าน้อยลง ธุรกิจและร้านค้าต่างๆจะไม่สามารถขายสินค้าได้ ส่งผลให้การลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าเริ่มชะลอตัว ทําให้การพัฒนาศักยภาพในการผลิตสินค้าของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตามไปด้วย

เมื่อใดที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจนทําให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบนานๆ ทำให้ประชาชนเองก็ต้องหันไปเก็งกําไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จนทำให้สะสมปัญหาส่งผลจนก่อให้เกิดเป็น ฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ (asset price bubble) และความไม่สมดุลในภาคการเงินของประเทศได้ เช่น หนี้ครัวเรือน เป็นต้น

วิธีแก้ปัญหาเงินเฟ้อ 

สภาวะเงินเฟ้อถือว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งกระทบเป็นวงกว้างให้กับประเทศและประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งสินค้าและบริการต่างเพิ่มราคาให้สูงขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วิธีการแก้ปัญหาเงินเฟ้อวิธีแรก จำเป็นต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงิน ช่วยดูแลคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้อ โดยมีคณะกรรมการนโยบายการเงินช่วยดูแลรักษาระดับของเงินเฟ้อผ่านเครื่องมือ 3 ประเภท ได้แก่

  1. การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงิน 
  2. การทำธุรกรรมปรับสภาพคล่องผ่านการตลาดการเงิน 
  3. หน้าต่างปรับสภาพคล่อง ณ สิ้นวัน 

 วิธีแก้เงินเฟ้อวิธีที่สอง คือการแก้ไขระดับประเทศ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 นโยบาย ได้แก่

  1. นโยบายการคลัง 

คือการคลังของฝั่งรัฐ ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้น สิ่งที่ต้องทำการแก้ไขโดยทันทีคือ การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเกิดจากการที่เงินในระบบมีมากจนเกินไป จึงต้องการที่จะดูดเงินออกจากระบบเพื่อเป็นการลดเงินเฟ้อลงได้

  1. นโยบายการเงิน

คือแบงค์ชาติที่ส่วนมากจะดูแลในส่วนของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทำได้โดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นการจูงใจให้ประชาชนหันมาฝากเงินที่ธนาคารมาขึ้นเพื่อให้ได้รับเงินที่มากกว่า และเพื่อไม่กระตุ้นให้คนทำธุรกิจ เนื่องจากเงินในระบบที่มีมาก หากดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ คนก็จะอยากกู้เงินไปลงทุน ขยายกิจการ จึงจำเป็นต้องเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ และเมื่อดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นก็จะเป้นการช่วยให้เงินในระบบได้ระบายออกไปได้ เมื่อเงินในระบบน้อยลงเงินเฟ้อก็จะลดลงด้วยเช่นกัน

วิธีแก้เงินเฟ้อวิธีที่สาม คือการแก้ไขระดับบุคคล คือ จะต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทน (Hedge Against Inflation) ซึ่งจะต้องทำให้เงินมีค่าเท่ากับ หรือมากกว่าเงินเฟ้อ จะทำได้โดยการแปลงทรัพย์สินเป็นอย่างไรก็ได้ให้ชนะเงินเฟ้อ เช่น ซื้อทองคำ กองทุน ETF ลงทุนในหุ้น Cryptocurrency อสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงการลงทุนทางเลือก เช่น ซื้อที่ดินเก็บไว้ เมื่อผ่านไป 20 ปี ข้างหน้าราคาที่ดินจะต้องเท่ากับหรือมากกว่าราคาของก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น

 สรุป 

ปัญหาภาวะเงินเฟ้อเรียกได้ว่าเป็นปัญหาทางระบบเศรษฐกิจที่น่ากลัวและส่งผลกระทบหลายๆอย่างให้กับประเทศและประชาชน จากราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้นก็มีแนวโน้มว่าจะแพงยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากสินค้าการผลิตที่สูงขึ้น ราคาสินค้าจึงแพงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้บริโภคไม่มีกำลังพอที่จะซื้อสินค้า หรือซื้อได้น้อยลง จากเมื่อก่อน เพียงมีเงิน 100 บาท ก็สามารถซื้อสินค้าได้หลายชิ้น แต่ ณ ปี 2022 มีเงิน 100 บาท สามารถซื้อสินค้าได้น้อยชิ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าค่าครองชีพสูงขึ้นหลายเท่าตัว อีกทั้งเมื่อสินค้าในการผลิตสูงขึ้นอาจส่งผลทำให้การขายสินค้าลดลงเนื่องจากขายไม่ออก ยอดขายลดลง จึงทำให้ปริมาณสินค้ามีมากจนเกินไปจนการผลิตต้องชะลอตัว และยังส่งผลทำให้เกิดการเลิกจ้างจนทำให้ผู้คนต่างต้องตกงาน วิธีรับมือกับเงินเฟ้อตัวร้ายคือการติดตามข่าวสารและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเงินเฟ้อ ซื้อสินค้าแต่พอประมาณและจำเป็นต่อชีวิตประจำวันเท่านั้น

 

ติดตามผลงานได้ที่ facebook : Dinosaving

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *